'ราชรถ ราชยาน' เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ

ราชรถ ราชยาน ในพระราชพิธี

ราชรถ ราชยาน เป็นหนึ่งในเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงฐานานุศักดิ์ของผู้ใช้ การใช้ราชรถ ราชยาน ในราชสำนักนั้นมีมาแต่ครั้งโบราณกาล ปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นราชประเพณีสืบเนื่องต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

การอัญเชิญพระบรมศพจากพระมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ หรืออัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศมาสู่พระบรมมหาราชวัง พระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุหรือลอยพระอังคาร ตามโบราณกาลจะอัญเชิญด้วยขบวนพระราชอิสริยยศ ซึ่งเรียกว่า ‘ริ้วขบวน’ โดยแต่ละริ้วขบวนมีคนหาม คนฉุดชักจํานวนมาก พร้อมด้วยเครื่องประกอบพระอิสริยยศ

การจัดริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีขบวนพระบรมราชอิสริยยศ จำนวน 6 ริ้วขบวน โดยมีการบูรณะตกแต่งราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ เพื่อให้พร้อมสำหรับการอัญเชิญพระบรมศพ พระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร รวมทั้งซักซ้อมการเคลื่อนขบวนให้งดงามประหนึ่งราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆส่งเสด็จสู่สวรรค์

ความหมายของราชรถ ราชยาน

ราชรถ หมายถึง พาหนะแห่งพระมหากษัตริย์ ในสมัยโบราณน่าจะพัฒนามาจากเกวียนขนาดเล็กที่นั่งได้เพียงคนเดียว และเทียมด้วยม้าหรือสัตว์อื่น เช่น วัว ลา ล่อ หรือแม้แต่คน

ในสมัยโบราณ การเดินทางไปในที่ต่างๆ จะใช้พาหนะในรูปแบบต่างๆ ตามฐานะของผู้ใช้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว พาหนะนั้นๆ จะเป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งทางราชการของผู้เป็นเจ้าของ ราชรถมีทั้งที่เทียมด้วยม้าและลากด้วยกำลังคน ซึ่งราชรถที่เทียมด้วยม้ามักเป็นรถศึก และรถที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้เมื่อเสด็จประพาสในที่ต่างๆ นอกพระราชวัง สำหรับราชรถที่ลากด้วยคน จะมีขนาดใหญ่ และใช้ในการพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีพระบรมศพ

ราชยาน หมายถึง พาหนะสำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ คำว่า ยาน ตามที่บัญญัติไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง เครื่องนำไป หรือพาหนะต่างๆ เช่น รถ เกวียน เรือ เป็นต้น เมื่อนำมาสมาสกับคำว่า ราช ซึ่งหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน จึงหมายถึงพาหนะสำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ ได้แก่ ราชรถ (รถพระที่นั่ง) ราชยาน พระคชาธาร (ช้างพระที่นั่ง) ม้าต้น และเรือพระที่นั่ง ราชยาน เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ส่วน ยาน เป็นเครื่องประกอบยศของบุคคลชั้นสูงในสังคมสมัยโบราณ แสดงให้เห็นฐานะและอำนาจอันแตกต่างจากสามัญชนทั่วไป

โบราณราชประเพณีแห่งการถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ตามโบราณราชประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพื่อน้อมส่งเสด็จพระมหากษัตริย์สู่สวรรคาลัย จะมีการอัญเชิญพระบรมโกศจากพระบรมมหาราชวังสู่พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง เริ่มจากอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระแท่นสุวรรณเบญจดล ออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางมุขประตูด้านตะวันตก ประดิษฐานบนพระเสลี่ยงแว่นฟ้า แล้วอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคานที่หน้าประตูกำแพงแก้วด้านตะวันตก เคลื่อนออกทางประตูศรีสุนทรและประตูเทวาภิรมย์ เข้าประจำกระบวนพระบรมราชอิสริยยศบนนถนนมหาราช เคลื่อนไปยังถนนสนามไชย

อัญเชิญพระบรมโกศจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นเกรินบันไดนาคประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ กระบวนพระบรมราชอิสริยยศเคลื่อนออกจากถนนสนามไชย สมเด็จพระราชาคณะนั่งบนราชรถน้อยนำหน้าพระมหาพิชัยราชรถ กระบวนเคลื่อนสู่พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง จากนั้นอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถด้วยเกรินบันไดนาค ประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคานเวียนรอบพระเมรุมาศ 3 รอบ แล้วจึงอัญเชิญพระบรมโกศประดิษฐานบนพระเมรุมาศ

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://thestandard.co/kingrama9-royal-chariot/ , https://mgronline.com/travel/detail/9600000107812 , https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_705533

ริ้วขบวน


โดยขบวนพระบรมราชอิสริยยศครั้งนี้ มีจำนวน 6 ริ้วขบวน ได้แก่

ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศทองใหญ่จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทโดยพระยานมาศสามลำคาน ไปยังพระมหาพิชัยราชรถหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ริ้วขบวนที่ 2เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ในริ้วขบวนประกอบด้วยขบวนทหารนำและตาม มีราชรถโยง ราชรถโปรยข้าวตอกดอกไม้ ราชรถพระนำ

ริ้วขบวนที่ 3เชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค ประดิษฐานพระโกศทองใหญ่บนราชรถปืนใหญ่ เวียนพระเมรุมาศโดยอุตรวัฏ (เวียนซ้าย) 3 รอบ แล้วเชิญพระโกศทองใหญ่ประดิษฐานบนพระจิตกาธาน

ริ้วขบวนที่ 4เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน และเชิญพระบรมราชสรีรางคารขึ้นประดิษฐานในพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย จากพระเมรุมาศเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระบรมราชสรีรางคารโดยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย แยกเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพักไว้ที่พระศรีรัตนเจดีย์ ขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระโกศพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน เข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐานที่บุษบกแว่นฟ้าทอง

ริ้วขบวนที่ 5เชิญพระโกศพระบรมอัฐิ โดยพระที่นั่งราเชนทรยานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ริ้วขบวนที่ 6ขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งไปบรรจุที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และ วัดบวรนิเวศวิหาร

สำหรับริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งนี้ ประกอบด้วยราชรถ ราชยาน ดังนี้

พระมหาพิชัยราชรถ

ราชรถสำคัญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ใช้ในการอัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อใช้ในการอัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก สำหรับออกพระเมรุในการถวายพระเพลิงในปี พ.ศ.2339 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามแบบพระราชประเพณีที่เคยมีมาครั้งกรุงศรีอยุธยา

ลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบกขนาดใหญ่ มีขนาดกว้าง 4.85 เมตร ยาว 18 เมตร (เฉพาะตัวรถ 14.10 เมตร) สูง 11.20 เมตร หนัก 13.70 ตัน ใช้กำลังพลชักลาก 216 คน สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกตกแต่งด้วยชั้นเกรินประดับกระหนกเศียรนาค กระหนกท้ายเกรินและรูปเทพพนมโดยรอบ

ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นหรือลงจากราชรถ คือ “เกรินบันไดนาค” โดยใช้การหมุนกว้านเลื่อนแท่นที่วางพระโกศขึ้นไปตามรางเลื่อนไม้จำหลักรูปนาค (ลักษณะการใช้งานเหมือนลิฟท์ในปัจจุบัน) ซึ่งแท่นที่วางพระโกศมีลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ขอบฐานแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ท้ายเกรินเป็นพื้นลดระดับลงมา มีลักษณะคล้ายท้ายสำเภา สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งประคองพระโกศพระบรมศพ

ราชรถน้อย

ราชรถน้อยมีจำนวน 3 องค์ ลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบก ขนาดเล็กกว่าพระมหาพิชัยราชรถ ทำด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำหน้าที่เป็นรถพระนำ (อ่านพระอภิธรรมนำกระบวน) เรียกอย่างย่อว่า “รถสวด” ทำหน้าที่เป็นรถโปรยข้าวตอก เรียกอย่างย่อว่า “รถโปรย” และ สำหรับโยงภูษาโยงจากพระบรมโกศ เรียกอย่างย่อว่า “รถโยง”

พระยานมาศสามลำคาน

เป็นยานที่มีคานหามขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้จำหลักลวดลายลงรักปิดทอง มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน จึงเรียกว่า พระยานมาศสามลำคาน ใช้สำหรับอัญเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ ที่จอดเทียบรออยู่ใกล้พลับพลายก บริเวณทิศตะวันออกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระราชยานองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นครั้งแรก

ราชรถปืนใหญ่

เป็นราชรถที่อัญเชิญพระโกศพระบรมศพ พระศพ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงรับราชการทหารเมื่อครั้งดำรงพระชนม์ชีพ แทนพระยานมาศสามลำคานตามธรรมเนียมเดิมจากพระบรมมหาราชวังสู่พระเมรุมาศ หรือพระเมรุ และแห่อุตราวัฏ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ 3 รอบ ซึ่งธรรมเนียมใหม่นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

ราชรถปืนใหญ่ประกอบด้วยราชรถส่วนหน้าสำหรับหีบบรรจุกระสุน และราชรถส่วนหลังสำหรับประดิษฐานพระบรมโกศขณะเวียนพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ ก่อนอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ โดยในพระราชพิธีครั้งนี้มีการออกแบบส่วนประกอบเพิ่มเติมคือ ล้อที่ 3 และมือจับประคองราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง

พระที่นั่งราเชนทรยาน และ พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย

พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นพระราชยานที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ลักษณะเป็นทรงบุษบก ย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น สร้างด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก พนักพิงและกระจังปฏิญาณแกะสลักเป็นภาพเทพพนมไว้ตรงกลาง และมีรูปครุฑยุดนาคประดับที่ฐาน พระที่นั่งราเชนทรยานใช้ในการอัญเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศท้องสนามหลวง เข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท